บทบาทต่อการเมืองไทย ของ กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์

กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ เคยมีบทบาทในกบฏทหารนอกราชการ โดยรถถังจาก ม.พัน.4 รอ. เข้าควบคุมสถานที่ราชการต่าง ๆ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งพันเอก มนูญ รูปขจร ผู้นำการก่อกบฏ ก็เคยเป็นผู้บังคับการหน่วยดังกล่าว[11] เหตุการณ์นี้ถูกอ้างถึงในเพลง "มะโหนก (ถึกควายทุย ภาค 6)" จากอัลบั้ม "อเมริโกย" ของวงคาราบาว[12]

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ม.พัน.4 รอ. ยังมีบทบาทเชื่อมโยงกับการเมืองไทย เช่น ในปี พ.ศ. 2553 น.พ. เหวง โตจิราการ ได้นำมวลชน นปช. ไปปราศรัยที่หน้าหน่วย[13], พ.ศ. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ภาณุพงศ์ จาดนอก จัดกิจกรรมตอบโต้การดำเนินการของทหาร ที่หน้า ม.พัน.4 รอ.[14] และในปี พ.ศ. 2566 หลังการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตำรวจได้ใช้เส้นทางผ่านหน่วยดังกล่าวในการนำสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนออกจากอาคารรัฐสภา[15] เป็นต้น

อนึ่ง พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล ยังเคยอาศัยที่บ้านพักใน ม.พัน.4 รอ. ด้วย[16][17] เขาเคยกล่าวว่ารัฐประหารทุกครั้งที่ตนมีส่วนร่วม จะมีรถถังจากหน่วยดังกล่าวเข้าควบคุมสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร[18] ทั้งนี้ ในรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 หลังพลตรีขัตติยะเสียชีวิต คสช. ก็ยังใช้ยุทโธปกรณ์จากหน่วยดังกล่าวเข้าควบคุมสถานการณ์ แม้จะไม่มีการเคลื่อนรถถังมาด้วยเหมือนรัฐประหารครั้งก่อน ๆ ก็ตาม[19]

แหล่งที่มา

WikiPedia: กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ https://www.ryt9.com/s/iq02/788869 https://mgronline.com/crime/detail/9630000099780 https://thaipublica.org/2011/11/army-battle-flood/ https://www.sanook.com/news/893830/ https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_40787... https://www.matichon.co.th/columnists/news_2349833 https://2read.digital/chapter/22537/2read.digital/... https://www.facebook.com/tank1004 http://www.cavalrycenter.com/radio/ https://www.thaipost.net/columnist-people/474938/